โรงเรียนสตรีสมุทรปราการ

Streesmutprakan School
World-Class Standard School


 

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9

         พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่เปี่ยมด้วยพระอัจฉริยภาพและความสามารถ พระองค์ทรงอุทิศพระวรกายในการประกอบพระราชกรณียกิจ ตลอด 70 ปีที่ทรงครองราชสมบัติ ซึ่งพระราชกรณียกิจที่โดดเด่นของพระองค์ มีดังต่อไปนี้


                                โครงการปลูกหญ้าแฝก

          พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ได้ทรงศึกษาเรื่องการใช้หญ้าแฝกในการอนุรักษ์ดินและน้ำจากเอกสารของธนาคารโลก ที่นาย Richard Grimshaw ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย และพระองค์ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับหญ้าแฝก โดยให้ทรงทดลองปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการพังทลายของดิน จนปัจจุบันมีหน่วยงานกว่า 50 หน่วยงาน ดำเนินงานสนองพระราชดำริการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝก ส่งผลให้การดำเนินงานก้าวหน้ามากขึ้นตามลำดับ

___

                           โครงการกังหันน้ำชัยพัฒนา

          กังหันน้ำชัยพัฒนา คือสิ่งประดิษฐ์ซึ่งเกิดจากพระปรีชาสามารถและพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อเป็นการแก้มลพิษทางน้ำซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นในหลายพื้นที่ ซึ่งสร้างเครื่องต้นแบบได้ครั้งแรกในปี 2532 การประยุกต์ใช้งานสามารถใช้ประโยชน์เพื่อเติมอากาศให้กับน้ำหรือใช้เพื่อขับเคลื่อนน้ำได้ โดยการใช้งานทั้งในรูปแบบที่ติดตั้งอยู่กับที่และใช้ในรูปแบบเคลื่อนที่ เพื่อเติมอากาศให้กับแหล่งน้ำขนาดใหญ่ หรือตามคลองส่งน้ำที่มีความยาวมาก ได้รับสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2536 และถือว่าวันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็น “วันนักประดิษฐ์” นับแต่นั้นเป็นต้นมา

 

                                    โครงการฝนหลวง

          "ฝนหลวง" โครงการพระราชดำริที่แสดงถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร อย่างแท้จริง โดยเฉพาะสายฝนจากบนฟากฟ้า ที่จะตกลงมาก็ต่อเมื่อถึงฤดูกาล แต่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงค้นคว้าวิจัยร่วมกับคณะ จนสามารถที่จะสั่งฟ้าให้โปรยฝนลงสู่ผืนแผ่นดินไทยได้ และกลายเป็นที่มาของฝนหลวง สายฝนแห่งน้ำพระราชหฤทัยที่พระองค์ทรงห่วงใยความเป็นอยู่ของราษฎร อยากให้พ้นจากภัยแล้งและสามารถดำรงชีพได้อย่างมีความสุข

 

                                  โครงการแกล้งดิน

          เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2524 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการเร่งดินให้เป็นกรดจัดรุนแรงที่สุด ในเขตจังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นที่ลุ่มต่ำ มีน้ำขังตลอดปีให้สามารถปลูกพืชได้ โดยการทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกัน แล้วศึกษาวิธีการปรับปรุงดินโดยการใช้น้ำล้างดิน การใช้หินปูนฝุ่น และใช้ทั้งสองวิธีควบคู่กันไป สามารถปรับปรุงดินแก้ปัญหาดินเสีย เพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจได้ 

 

                            โครงการแพทย์พระราชทาน

          พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงให้ความสำคัญกับงานสาธารณสุขเป็นอย่างยิ่ง โดยในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรแต่ละครั้ง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้โปรดฯ ให้คณะแพทย์ในขบวนเสด็จ ทำการตรวจรักษาราษฎร และทรงพบว่าราษฎรจำนวนมากขาดการดูแลรักษาในด้านสุขภาพอนามัย
          โครงการหน่วยแพทย์พระราชทานจึงได้ถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ.2510 เป็นการช่วยแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพอนามัยของราษฎรที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล และระบบการรักษาตามปกติยากแก่การดูแลได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งราษฎรส่วนใหญ่ที่มีฐานะยากจน และขาดความรู้ในการดูแลรักษาตนเอง การที่มีหน่วยแพทย์พระราชทานออกไปบำบัดรักษา ทำให้ราษฎรมีโอกาสได้รับการรักษา โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ

 

                                    โครงการแก้มลิง

          จากปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ.2538 และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทอดพระเนตรเห็นว่า ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นนั้นเรื้อรังกว่า 2 เดือน ในวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ.2538 จึงมีพระราชดำริโครงการแก้มลิงขึ้นครั้งแรก เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัย พร้อมทั้งช่วยอนุรักษ์น้ำและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน แนวคิดโครงการแก้มลิงเกิดจากการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัสถึงลิงที่อมกล้วยไว้ในกระพุ้งแก้มได้คราวละมากๆ โดยมีพระราชกระแสอธิบายว่า
          "ลิงโดยทั่วไปถ้าเราส่งกล้วยให้ ลิงจะรีบปอกเปลือก เอาเข้าปากเคี้ยว แล้วนำไปเก็บไว้ที่แก้มก่อน ลิงจะทำอย่างนี้จนกล้วยหมดหวีหรือเต็มกระพุ้งแก้ม จากนั้นจะค่อยๆ นำออกมาเคี้ยวและกลืนกินภายหลัง"

 

                                    โครงการแกล้งดิน

          เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2524 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการเร่งดินให้เป็นกรดจัดรุนแรงที่สุด ในเขตจังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นที่ลุ่มต่ำ มีน้ำขังตลอดปีให้สามารถปลูกพืชได้ โดยการทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกัน แล้วศึกษาวิธีการปรับปรุงดินโดยการใช้น้ำล้างดิน การใช้หินปูนฝุ่น และใช้ทั้งสองวิธีควบคู่กันไป สามารถปรับปรุงดินแก้ปัญหาดินเสีย เพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจได้ 

 

                             โครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสัก

           พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเล็งเห็นปัญหาอุทกภัยในเขตลุ่มน้ำป่าสัก ซึ่งส่งผลกระทบถึงกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลที่เกิดขึ้นเป็นประจำ เนื่องจากลักษณะลุ่มน้ำแห่งนี้มีความลาดชันสูง จึงทำให้ในฤดูฝน กระแสน้ำจะไหลบ่าจากด้านบนลงมาอย่างรวดเร็ว ล้นตลิ่ง ทำความเสียหายให้กับเรือกสวนไร่นา ตลอดจนบ้านเรือนและทรัพย์สินของราษฎร ในทางกลับกันในฤดูแล้งมักประสบปัญหาขาดแคลนน้ำใช้เพื่อการเกษตร
          เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2536 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำรัสเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำของกรมชลประทานว่า หากเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปัจจุบัน ก็สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง และขาดแคลนน้ำให้กับประชาชนได้ จะต้องก่อสร้างเขื่อน 2 แห่ง ที่แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำนครนายก ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ดำเนินการ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ.2537 โครงการนี้ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี ระหว่าง พ.ศ.2537-2542 และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระกรุณาพระราชทานนาม เขื่อนนี้ว่า "เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์" อันหมายถึง "เขื่อนแม่น้ำป่าสักที่เก็บกักน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ" เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ได้เริ่มเก็บกักน้ำครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2541 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานในพิธี

 

                      โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน

           พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่สำคัญแก่เยาวชน ได้แก่ โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยทรงมีวัตถุประสงค์ให้เป็นหนังสือความรู้ที่เหมาะแก่เด็กในวัยต่างๆ รวมทั้งผู้ใหญ่ก็สามารถใช้ประโยชน์ได้ โดยพระองค์ทรงกำหนดหลักการทำคำอธิบายเรื่องต่างๆ แต่ละเรื่องเป็นสามตอนหรือสามระดับ สำหรับให้เด็กรุ่นเล็กอ่านเข้าใจระดับหนึ่ ง สำหรับเด็กรุ่นกลางอ่านเข้าใจได้ระดับหนึ่ง และสำหรับเด็กรุ่นใหญ่ รวมถึงผู้ใหญ่ผู้สนใจอ่านได้อีกระดับหนึ่ง เมื่อเรื่องหนึ่งเรื่องใดมีความเกี่ยวพันต่อเนื่องถึงเรื่องอื่นๆ ก็ให้อ้างอิงถึงเรื่องนั้นๆ ด้วยทุกเรื่องไป ด้วยประสงค์ จะให้ผู้ศึกษาทราบและตระหนักว่าวิชาการแต่ละสาขามีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องถึงกัน ควรศึกษาให้ครบถ้วนทั่วถึง เป็นหนังสือที่ให้ความรู้ในวิชาการทุกสาขา และแต่ละสาขามีความสัมพันธ์กัน โดยที่ฉบับปกติมีทั้งหมด 37 เล่ม และฉบับเสริมการเรียนรู้มีทั้งหมด 20 เล่ม จึงเป็นหนังสือที่ได้ประโยชน์แท้จริงแก่ทุกฝ่าย

 

                              โครงการ "เกษตรทฤษฎีใหม่"

           พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานแนวพระราชดำริเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยเป็นตัวอย่างการใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในขั้นต้น โดยการทำเกษตรทฤษฎีใหม่นี้ แบ่งออกเป็น 3 ขั้นได้แก่ ขั้นต้น คือ การแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน ตามอัตรา 30-30-30-10 เพื่อขุดเป็นสระกักเก็บน้ำ 30% ปลูกข้าวในฤดูฝน 30% ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผักสมุนไพร 30% และเป็นที่อยู่อาศัยอีก 10% จากนั้นจึงเป็นเกษตรทฤษฎีใหม่ขั้นที่สอง คือการให้เกษตรกรรวมกันในรูปแบบของกลุ่ม สหกรณ์ เพื่อดำเนินการในด้านการผลิต การตลาด ความเป็นอยู่ สวัสดิการ การศึกษา จากนั้นจึงเป็นเกษตรทฤษฎีใหม่ขั้นที่สาม คือการติดต่อประสานงาน จัดหาแหล่งเงินทุน เพื่อใช้ลงทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตต่อไป

 

ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.rd.go.th/region/04/saraburi/687.html


หมวดหมู่ ข่าวประชาสัมพันธ์ วันที่ 4 ธ.ค. 2567 17:00 ปัณณทัต จำปากุล จำนวนที่ดู 110 ครั้ง แก้ไขล่าสุด : 10 ธ.ค. 2567 08:40

ผู้บริหารโรงเรียน


ดร.ชลารักษ์ สายอุทัศน์
ผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีสมุทรปราการ

เมนูย่อย

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

สำรวจความคิดเห็น

ความพึงพอใจของนักเรียนโรงเรียนสตรีสมุทรปราการต่อการให้บริการอินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนรู้

ข้อมูลติดต่อ

โรงเรียนสตรีสมุทรปราการ
489 หมู่ที่ 1 ถนนสุขุมวิท ตำบลปากน้ำ
อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ 10270
โทร. 02-7029995

Social Link

ค้นหาข้อมูล